คลังบทความของบล็อก

วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2559

คำสแลงในเพลง

คำแสลงในเพลง

       ภาษาเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เมื่อเวลาเดินหน้า ภาษาก็เดินหน้าเช่นกัน ไปดูกันเถอะค่ะว่า คำสแลงคืออะไร การนำคำแสลงมาใช้นั้นผิด-ถูกอย่างไร ผู้เขียนบทความขอนำเสนอเนื้อหาดังนี้ค่ะ 

คำสแลง

       สแลง  (slang) คือ ถ้อยคำหรือสำนวนที่ใช้เข้าใจกันเฉพาะกลุ่มหรือชั่วระยะเวลาหนึ่ง ไม่ใช่ภาษาที่ยอมรับกันว่าถูกต้อง 

       คำสแลง หรือคำคะนอง (Slang)คือถ้อยคำ สำนวน หรือภาษาพูดที่ใช้สร้างความเข้าใจเฉพาะกลุ่มซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาว เป็นภาษาที่สร้างขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ ภาษาไม่สุภาพ เป็นภาษาไม่เป็นแบบแผน แต่ไม่ใช่คำหยาบหรือ คำต่ำ แต่เป็นคำ พิเศษที่สร้างขึ้นเพื่อให้เกิดคำแปลก ๆ ผิดไปจากปรกติทั้งด้านเสียง รูป คำ และความหมายเป็นภาษาที่ไม่ปรากฏในพจนานุกรม หรือปรากฏในพจนานุกรมแต่ระบุ ว่าเป็นภาษาปาก   คำสแลงมีระยะเวลาการใช้ไม่นานก็จะสูญหาย ไปเพราะหมด    ความนิยม

คำแสลงเป็นเหมื่อนกับศัพท์ของวัยรุ่นค่ะ มาแล้วก็ไป ตามกระแสนิยมแค่นั้น มาดูตัวอย่างคำแสลงกันดีกว่าค่ะ



ตัวอย่างคำแสลง

นอย = มาจากคำว่า "พารานอย" (paranoid) ในภาษาอังกฤษ ใช้เมื่อรู้สึกกลัว หริอกังวงจนเกินเหตุ
เซ็งเป็ด = ก็ "เซ็ง" นั่นแหละค่ะ แต่มากกว่าเซ็งปกตินิดนึง

เก้ง กวาง = เกย์

สะตอ, สะตอบอแหล = แผลงมาจากคำว่า "สตรอเบอร์รี่" ซึ่งเป็นคำแสลงของคำว่า "ตอแหล"อีกทีนึง

เก็ต = เข้าใจ
หงายเงิบ = หงายหลัง หกล้ม 
งานเข้า = สั้น ๆ ง่าย ๆ มันแปลว่า "ซวย" นั่นเอง
ชิมิ = ใช่ไหม
รู้ยัง = รู้หรือยัง 
จุงเบย = จังเลย
บ่องตรง = บอกตรงๆ

      เนื่องจากภาษาเปลี่ยนแปลงได้ จึงไม่แปลกที่เมื่อโลกเปลี่ยนไป จะมีภาษาเกิดขึ้นมาใหม่ โดยคำแสดงนั้น มีทั้งการตัดคำ กร่อนเสียงลงไป ซึ่งการกระทำเช่นนั้นทำให้ภาษาหรือคำที่ใช้ผิดไวยากรณ์ไป โดยคำสแลงนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันเสมอมาว่า ถูก หรือผิด หรือไม่อย่างไร แต่ถึงกระนั้น ก็มีสื่อที่สร้างความบันเทิงหลายประเภทนะคะ ที่นำคำเหล่านี้มาใช้ เช่นในบทเพลงที่จะพาทุกท่านไปเรียนรู้นี้ก็มีการนำคำสแลงมาใช้เช่นกันค่ะ  อย่างเช่นเพลงนี้ 

       เพลงเจ็บจุงเบย นำคำว่า จุงเบยมาใช้ ความหมายก็คือ เจ็บจังเลยค่ะ ซึ่งแน่นอนว่า ในช่วงขณะนั้น คำว่าจุงเบย กำลังเป็นที่นิยมใช้กันอย่างมาก ดังนั้นสื่อจึงผลิตเพลงออกมาเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากเพลงนี้แล้ว ยังมีอีกหลายเพลงนะคะ เช่นเพลง สตรอเบอแหล ของจ๊ะ อาร์สยาม เพลงชิมิ เพลงโสดอยู่รู้ยัง เพลงรักนะฉึก ฉึก เพลงที่ใช้คำแสลงมีอีกมาเลยค่ะ 
       หากเรามองในมุมของผู้ที่มีใจเปิดกว้าง อาจจะไม่รู้สึกว่ามันผิด หรือแปลกแต่อย่างใด แต่สำหรับผู้ที่ทำงานทางด้านภาษาแล้ว คำสแลงอาจไม่เป็นที่ยอมรับมากนักค่ะ เพราะถือว่าผิดหลักไวยากรณ์ อาจจะทำให้คำที่แท้จริงนั้นถูกหลงลืมไป แต่ในมุมองของตัวผู้เขียนบทความมองว่า ภาษาคือสิ่งสมมติค่ะ คำที่เขียนถูก หรือผิดนั้น ก็ถูกสมมติมา แต่คำที่เขียนถูกนั้น เป็นสิ่งสมมติที่เป็นที่ยอมรับในสังคมทั่วไป ส่วนคำที่เขียนผิดนั้น เป็นสิ่งสมมติที่ไม่ได้ถูกยอมรับในสังคม แต่ถึงกระนั้น การเขียนคำ และการใช้ภาษาที่ถูกต้องนั้น ก็เป็นการแสดงถึงภูมิรู้ หรือความรู้ของตัวผู้ใช้ด้วย จึงอยู่ที่ผู้ใช้แล้วล่ะค่ะ ว่าจะใช้แบบใด
       สำหรับบทความนี้ โดยมากเป็นการแสดงความคิดเห็นของผู้เขียนบทความเพียงเท่านั้น ผู้ที่เข้ามาศึกษา โปรดศึกษา และพิจารณาเนื้อหาอย่างมีวิจารณญาณด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ ^^ 

ขอขอบคุณ ภาพจาก kapook.com 

นางในวรรณคดีที่ปรากฏในบทเพลง

นางในวรรณคดีที่ปรากฏในบทเพลง

การนำเอานางในวรรณคดี หรือตัวพระตัวนางในวรรณคดี มาเสริมเติมแแต่งไว้ในบทเพลงนั้น เป็นกระแสมาสักพัก ทำให้เราได้พบเห็นตัวละครที่สำคัญ ดังเช่นนางในวรรณคดีนั้น มาโลดแล่นอยู่ในบทเพลง ซึ่งก็มีทั้งผลดี และผลเสียนะคะ ผลดี คือ ทำให้เด็กรุ่นใหม่สมัยนี้ได้รู้จักตัวละครในวรรณคดี หรือรู้จักวรรณคดี และสนใจอยากที่จะไปหามาอ่านมากยิ่งขึ้น แต่ผลเสียก็มีนะคะ คือ ในบางครั้ง ผู้แต่งอาจจะมีความรู้เกี่ยวกับตัวละครตัวนั้นๆอย่างไม่ถูกต้อง เช่นนางสีดา กับพระราม และทศกัณฑ์นี่เป็นปัญหาเยอะมากทีเดียวเลยค่ะ เพราะอะไรนั้น ตามไปดูกันเลยค่ะ ^^

1. นางสีดา 



       สำหรับเพลงนี้ เป็นที่วิพากย์วิจารณ์กันอย่างหนาหูกันเลยทีเดียวค่ะ เนื่องจากเรื่องราวที่ผู้แต่งนำมาเขียนในบทเพลงนั้น อาจจะไม่เป็นจริงดังในตัววรรณคดี เพราะเนื่องจาก เนื้อหาในเพลง เป็นเหมือนการกล่าวถึง เรื่องราวความรัก ระหว่างพระราม กับนางสีดา ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ โดยกล่าวไว้ว่า พระรามสั่งให้นางสีดาลุยไฟ เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจ ดังท่อนที่ว่า

โอ้ว่าพระรามยังแคลงใจ จบศึกกรุงลงกาพิสูจน์เจ้านางสีดา ให้บุกเดินลุยไฟ

       ซึ่งในตัววรรณคดีนั้น พระรามมิได้สั่งให้นางสีดานั้นลุยไฟ แต่เป็นตัวนางสีดาเองที่ขอลุยไฟ ตัวพระรามมีความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับนางสีดามาก เมื่อเสร็จศึก และทศกันณฑ์สิ้นชีวิตในสมรภูมิแล้วนั้น พระรามก็เฝ้ารอที่จะได้พบหน้ากับนางสีดาอีกครั้ง แต่เมื่อได้พบกับนางสีดาแล้ว จักให้พระรามจักแสดงความรักต่อนางสีดาอย่างประเจิดประเจ้อก็หาได้ไม่ เพราะตัวนางสีดาเองไปอยู่ที่กรุงลงกามาเป็นเวลา 14 ปีด้วยกัน บรรดาทวยเทพเทวดา รวมทั้งไพร่พลเสนาลิงทั้งหลาย อาจจะมีความคลางแคลงใจในตัวของนางสีดา ดังนั้นพระรามจึงทำทีแกล้งพูดยั่วนางสีดา ด้วยหลักจิตวิทยาสักหน่อย ว่า นางสีดาดูมีสีหน้าที่สุขสบายดี ทศกัณฑ์คงจะดูแลเป็นอย่างดี น้ำเสียงออกไปเชิงประชด เมื่อนางสีดาได้ยินดังนั้นก็เหมือนกับฟ้าผ่าฟาดลงกลางใจ จึงขอพิสูจน์ตนเองเพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ ดังตอนที่ว่า



“... ข้าขอพิสูจน์เพลิงถวาย เบื้องบาทพระนารายณ์รังสรรค์
ต่อหน้าฝูงเทพเทวัญ กับพวกพลขันธ์วานร ...”

และด้วยอานุภาพความดีอันหาที่ติไม่ได้ของนางสีดา ผลของการลุยไฟจึง ...
“... เดชะความสัตย์ที่ซื่อตรง จะร้อนเบื้องบาทบงสุ์ก็หาไม่
มีประทุมทิพมาศอำไพ เกิดขึ้นในกลางเพลิงกาล
ขยายแย้มผกาเกสร ขจายจรรื่นรสหอมหวาน
รับรองบาทบงสุ์ทรงธาร ทุกย่างบทมาลย์นางเทวี ...”
       
       นี่จึงเป็นการพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พระรามหาได้สั่งให้นางสีดาลุยไฟไม่ และนางวรรณคดีอีกนาง ที่ใครๆก็บอกว่านางสองใจนี้ ในบทเพลงที่เอามากล่าว ค่อนข้างที่จะเห็นต่างจากที่กระแสสังคมวิพากย์วิจารณ์ นั่นคือวันทอง นั่นเองค่ะ

2.วันทอง


       "วันทอง หญิงสองใจ" เชื่อว่าหลายคนคงได้ยินประโยคนี้หลายต่อหลายครั้ง เป็นการเปรียบเทียบตามตำรับวรรณคดี ที่ดูเหมือนว่าผู้เขียนต้องการที่จะให้ผู้อ่าน คิดและก็มองดังเช่นนั้น แต่ในบทเพลงนี้กลับเห็นต่างจากตัววรรณคดี แตกต่างอย่างไรนั้น ไปฟังกันค่ะ


       อาญาสองใจ เป็นบทเพลงที่มองต่างมุม กล่าวคือ บทเพลงสื่อออกมาว่า วันทองไม่ใช่หญิงสองใจ แต่ถึงกระนั้น ยังไม่มีทฤษฏีใดพิสูจน์ได้เลยว่า เหตุใดวันทองจึงไม่เลือกที่จะอยู่กับใครเลย ตามบทสุดท้ายในตอนที่สมเด็จพระพันวษาให้วันทองเลือกนั้นว่าจะอยู่กับใคร นางมีความคิดเห็นว่า

ความรักขุนแผนก็แสนรัก ด้วยร่วมยากมานักไม่เดียดฉันท์
สู้ลำบากบุกป่ามาด้วยกัน สารพันอดออมถนอมใจ
ขุนช้างแต่อยู่ด้วยกันมา คำหนักหนาหาว่าให้เคืองไม่
เงินทองกองไว้ไม่ให้ใคร ข้าไทใช้สอยเหมือนของตัว
จมื่นไวยเล่าก็เลือดที่ในอก ก็หยิบยกรักเท่ากันกับผัว


       จะเห็นได้ว่า นางวันทองนั้น มิได้ใช้คำว่ารักกับขุนช้างแต่อย่างใด นางรักเพียงขุนแผนและลูกเพียงเท่านั้น หากแต่กับขุนช้าง นางน่าจะเห็นใจและเกิดความสงสารเสียมากกว่า ดังนั้นจึงเป็นเหมือนกับความจำเป็น ที่นางต้องตกอยู่ในสถานะเช่นนั้น แต่ด้วยความที่หวาดกลัวสมเด็จพระพันวษา นางจึงไม่กล้าที่จะตัดสินใจ จึงเอ่ยบอกว่า ให้สมเด็จพระพันวษาเลือกให้ เพียงเท่านั้นเอง สมเด็จพระพันวษา ก็ประนามนางเป็นหญิงสองใจไปเสียแล้ว วันทองเป็นตัวละครที่แสดงให้เห็นถึงการกดขี่เพศหญิงในสมัยนั้น ดังที่ท่านอาจารย์เนาวรัตน์ พงไษ์ไพบูลย์ ได้เขียนเอาไว้ในบทกลอน โซ่ที่ยังไม่ปลด ไว้ว่า

"จนคืนค่อนนอนอ่านทั้งหวานฉ่ำ    ทั้งโศกกำสรดทั้งสดชื่น

ว่าวันทองสองใจไม่ยั่งยืน             ใครเล่าขืนกดขี่ชีวิตพิม

 ใช่คาถาอาคมพรหมลิขิต                 มิใช่จิตจำนนจนหงอยหงิม

หญิงคือเครื่องสังเวยเครื่องเชยชิม       นี่แหละคือดาบทิ่มจิ้มจ่อคอ

บุรุษคือผู้ถูกในทุกสิ่ง                      แม้เณรทิ้งจีวรมานอนหอ

ว่าทะนงองอาจชาติสีดอ                            สมเป็นหน่อเนื้อพลายชายชาตรี

ครั้นขุนช้างบังอาจด้วยบาทใหญ่     แม่ก็เห็นเป็นใจไปทุกที่

อำนาจเงินครอบงำเข้าย่ำยี                  ชั่วว่าดีผิดว่าถูกไปทุกคราว

ความเป็นคนของพิมจึงนิ่มนุ่ม               ถูกเขากุมเขากดกำหนดก้าว

ตัดสินใจไม่ถูกทุกเรื่องราว                 จนชื่อฉาวชั่วช้าว่าสองใจ"
                                                                 (โซ่ที่ยังไม่ปลด : เนาวรัตน์ พงษ์ไพย์บูล)

3.ผีเสื้อสมุทร

       ผีเสื้อสมุทรเป็นตัวละครของสุนทรภู่ค่ะ ถือว่าเป็นนางในวรรณคดีอีกตัวที่น่าสนใจไม่แพ้ตัวละครตัวไหนเลยค่ะ เพลงที่นำผีเสื้อสมุทรมาแต่งคือเพลง ผีเสื้อสมุทร (รักเกินจะหักใจ) จะเป็นอย่างไรนั้น ไปฟังกันเลยค่ะ

       บทเพลงนี้ นำเอาความรักของผีเสื้อสมุทร ที่มีให้แก่พระอภัยมณีมาพูดถึงค่ะ ซึ่งในเรื่องความรักนี้ จะว่าผิด - ถูกนั้นเห็นจะเป็นเรื่องยากจริงไหมคะ แต่กล่าวตามที่สุนทรภู่ได้ขีดเขียนไว้นั้น นางเป็นหญิงที่ทำหน้าที่ภรรยาได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องเลยนะ ตามที่กล่าวไว้ในบทที่ว่า


สงสารภัคินีเจาพี่เอย เปนคูเชยเคียงชิดพิศมัย 
ถึงรูปชั่วตัวดําแตน้ำใจ จะหาไหนไดเหมือนเจาเยาวมาลย  
ตั้งแตนี้มีแตจะแลลับ จนดับสิ้นกาลาปาวสาน 
จนมวยดินสิ้นฟาแลบาดาล มิไดพานพบสมรเหมือนกอนมา 
พี่แบงบุญบรรพชิตอุทิศให เจาจงไปสูสวรรค ใหหรรษา 
อันชาตินี้มีกรรมจํานิรา เมื่อชาติหนาขอใหพบประสบกัน 
เปนมนุษย์ครุฑาเทวาธิราช อยารูขาดเสนหาจนอาสัญ 
ใหสมวงศ์พงศประยูรตระกูลกัน อยาตางพันธุผิดเพื่อนเหมือนเชนนี้



       พระอภัยมณียอมรับในน้ำใจ และความเป็นภรรยาที่ดีของนางผีเสื้อสมุทรค่ะ หากแต่ใจรู้สึกว่าตนรักกับยักษ์ไม่ได้ จึงต้องหนีจากนางไป ดังนั้นในบทเพลงนี้ จึงมิอาจตัดสินได้ว่า ผืดหรือถูกอย่างไร ในเรื่องของความรู้สึกนั้น ยากที่จะหาเหตุผลมาอธิบายได้ค่ะ


     
       เป็นอย่างไรบ้างคะ นางในวรรณคดีของเรา สังเกตเห็นไหมคะว่า มีบางบทเพลงที่เป็นการนำเอาเรื่องราวของตัวละครตัวนั้นมาแต่ง แต่บางบทเพลง ก็เป็นเหมือนกับการวิจารณ์ตัวบท สำหรับบทเพลง ความไพเราะนั้นสำคัญก็จริง แต่หากเป็นเรื่องของวรรณคดี จำเป็นที่จะต้องศึกษาอีกทีนะคะ สำหรับบทความต่อไป จะพาทุกคนไปดูคำสแลงในเพลงกันค่ะ อย่าลืมติดตามกันนะคะ ^^

วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ภาพพจน์ในบทเพลง

โวหาร ภาพพจน์ในเพลง


๑. อุปมา  ( Simile)

อุปมา    คือ การเปรียบเทียบว่าสิ่งหนึ่งเหมือนกับสิ่งหนึ่งโดยใช้คำเชื่อมที่มี ความหมายเช่นเดียวกับ คำว่า      " เหมือน "     
 เช่น     ดุุจ  ดั่ง  ราว  ราวกับ   เปรียบ   ประดุจ    เฉก   เล่ห์   ปาน   ประหนึ่ง  เพียง    เพี้ยง    พ่าง    ปูน  ฯลฯ เช่นในเพลงกุญแจที่หายไป ของปาล์มมี่ก็พบอุปมาในเพลง กุญแจที่หายไป ในท่อนที่ว่า 

เธอเหมือนเป็นกุญแจที่หาย  เป็นเหมือนคนที่ไขประตูให้ฉัน 

             เปรียบเธอเป็นกุญแจที่เคยหายไปค่ะ ซึ่งสื่อความหมายได้ว่า ชายคนนี้เป็นเหมือนกับคนที่เข้ามาเปิดหัวใจหญิงสาวคนนี้อีกครั้ง หลังจากที่ถูกใครบางคนปิดมันเอาไว้ แล้วเดินจากไปพร้อมกับปิดตายหัวใจหญิงสาวลง แต่เธอคนนี้กลับเข้ามาทำให้หัวใจของหญิงสาวได้เปิดขึ้นมาอีกครั้ง อุปมาโดยมากแล้วมักใช้เพื่อเปรียบเปรยให้ผู้อ่านได้คิดหรือจินตนาการตามสิ่งที่ผู้เขียนจะสื่อออกมาให้ผู้อ่านเข้าใจได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นค่ะ 

๒. อุปลักษณ์  ( Metaphor )

               อุปลักษณ์  ก็คล้ายกับอุปมาโวหารคือเป็นการเปรียบเทียบเหมือนกัน แต่เป็นการเปรียบเทียบ สิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง
อุปลักษณ์จะไม่กล่าวโดยตรงเหมือนอุปมา แต่ใช้วิธีกล่าวเป็นนัย  ให้เข้าใจเอาเอง  ที่สำคัญ  อุปลักษณ์จะไม่มีคำเชื่อมเหมือนอุปมา เช่นในเพลง เธอคือของขวัญ ของสิงโต ในท่อนที่ว่า 

หากเธอเป็นภูเขา ฉันจะเป็นต้นไม้

โอบกอดเธอเอาไว้ ไม่ให้เธอเหน็บหนาว

หากเธอเป็นท้องฟ้า ฉันจะเป็นเมฆสีขาว

โอบกอดเธอไม่ให้เธอเหงาและเดียวดาย

ถ้าเธอเป็นรถยนต์ ท้องถนนก็คือฉัน

หากเธอเป็นพระจันทร์ แน่นอนฉันต้องเป็นดาว

       อุปลักษณ์เปรียบเป็น เห็นไหมคะ เป็นจริงๆค่ะ เป็นทั้งภูเขา ต้นไม้ ท้องฟ้า รวมไปถึงรถยนต์ และถนนกันเลยทีเดียว สังเกตไหมคะว่า สิ่งที่ผู้ประพันธ์หรือผู้เขียนนั้นเปรียบ เป็นการเปรียบสิ่งที่คู่กัน บนภูเขามีต้นไม้ บนท้องฟ้ามีเมฆขาว ในท้องถนนมีรถยนต์ และพระจันทร์ ก็มักเคียงคู่อยู่กับดวงดาว ซึ่งสิ่งนี้เป็นการเปรียบเพื่อการสื่อความหมาย มากกว่าการให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพค่ะ สื่อความหมยที่ว่า ฉันจะเคียงข้างเธอ แค่นี้เองค่ะ สิ่งที่ผู้ประพันธ์จะสื่อ แต่การนำอุปลักษณ์มาใช้นั้น ช่วยให้บทเพลงดูมีความหมายที่ลึกซึ้ง มากกว่าการสื่อความหมายโดยตรงนั่นเองค่ะ

๓. ปฏิพากย์  ( Paradox )
                 ปฏิพากย์ หรือ ปรพากย์  คือการใช้ถ้อยคำที่มีความหมายตรงกันข้าม หรือขัดแย้งกันมากล่าว อย่างกลมกลืนกันเพื่อเพิ่มความหมายให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น เช่น ชื่อเพลง บาปบริสุทธิ์ ของวงคาราบาว นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการใช้ปฎิพากย์ค่ะ แต่ถ้าจะให้ชัดเจน ลองดูที่เพลงนี้นะคะ เพลง รักเธอประเทศไทย ในท่อนที่ว่า

จะตึงจะตัง ขึงขัง หรือโอนอ่อนแล้วแต่ทำเพื่อใคร

จะดีจะเลว เธอก็ยืนเคียงข้างจะจำไม่จาง ยังซึ้งใจ

จะเป็นจะตาย ดีร้ายสักเพียงใดฉันทำได้ เพื่อเธอ

              การใช้ปฏิพากย์ ช่วยให้เนื้อหาของเพลงมีน้ำหนักมากขึ้น ในเพลงรักเธอประเทศไทยนี้ ความหมายที่สื่อออกมาคือ แม้ว่าชีวิตจะเป็นอย่างไร ก็สามารถทำทุกอย่างได้เพื่อชาติไทย ซึ่งการใช้ปฏิพากย์ก็เป็นการช่วยให้ความหมายที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อออกมานั้น หนักแน่นมากยิ่งขึ้นด้วยค่ะ

๔. อติพจน์    (  Hyperbole )    

                 อติพจน์ หรือ อธิพจน์  คือโวหารที่กล่าวเกินความจริง เพื่อเน้นความรู้สึก ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกที่ลึกซึ้ง
ภาพพจน์ชนิดนี้นิยมใช้กันมากแม้ในภาษาพูด  เพราะเป็นการกล่าวที่ทำให้เห็นภาพได้ง่ายและแสดงความรู้สึกของกวีได้อย่างชัดเจน  จะขอยกตัวอย่างเพลงนี้แล้วกันค่ะ เพลง เป็นไปบ่ได้ ซึ่งอาจจะมีหลายคนที่ยังไม่รู้จัก ลองไปฟังดูได้นะคะ 



       โดยในเพลงนี้ จะมีท่อนหนึ่งที่ว่า 

ให้บ้านเฮามีหิมะตก ให้นกเอี้ยงเลิกนั่งเลี้ยงควาย
ให้หมีแพนด้าออกลูกเป็นไข่ ยังสิเป็นไปได้กว่าฮักสองเฮา

       ในเนื้อเพลงข้้างต้น เป็นการกล่าวเกินจริง เพื่อเน้นอารมณ์และความรู้สึกที่ว่า รักของตนไม่สามารถเป็นไปได้ ให้หิมะตกที่บ้านเรา (ประเทศไทย) ยังดูมีหวัง และง่ายเสียกว่า เป็นการเปรียบที่ซึ้งอย่างยิ่งเลย จริงไหมคะ 

๕. บุคลาธิษฐาน   (  Personification )

               บุคลาธิษฐาน หรือ บุคคลวัต   คือการกล่าวถึงสิ่งต่างๆ ที่ไม่มีชีวิต ไม่มีความคิด ไม่มีวิญญาณ     เช่น โต๊ะ    เก้าอี้    อิฐ  ปูน   หรือสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่น  ต้นไม้  สัตว์  โดยให้สิ่งต่างๆเหล่านี้แสดงกิริยาอาการและความรู้สึกได้เหมือนมนุษย์  สำหรับบุคลาธิษฐานนั้น ขอยกตัวอย่างเป็นเพลงนี้ก็แล้วกันค่ะ เพลงไม้ขีดไฟกับทานตะวัน  เพลงนี้เป็นเพลงที่ค่อนข้างจะเก่ามากแล้ว แต่งโดยคุณประภาสค่ะ ความหมายดีเลยทีเดียว ลองไปฟังดูได้นะคะ 


       ซึ่งท่อนที่ยกมานี้ มีใจความว่า

เจ้าไม้ขีดไฟ ก้านน้อยเดียวดาย
แอบรักดอกทานตะวัน

       ไม้ขีดไฟ เป็นสิ่งไม่มีชีวิต แต่ผู้เขียนใส่ชีวิตจิตใจให้กับมัน โดยการให้มีความรู้สึกรัก รักดอกทานตะวัน โดยธรรมชาติของดอกทานตะวันนั้น จะหันไปหาแต่แสงจากดวงอาทิตย์ใช่ไหมคะ แล้วเจ้าไม้ขีดไฟก้านน้อยๆนี้ จะมีหวังอะไร ไม่มีวันเสียหรอกที่ดอกทานตะวันจะหันมามอง แต่ถ้าหากมีวันหนึ่ง ดอกทานตะวันหันมามอง เพียงเพราะแสงอันน้อยนิดที่ไม้ขีดไฟยอมจุดตัวเองขึ้นมานั้น ในวันนั้น ตอนนั้น ดอกทานตะวัน อาจจะเห็นเพียงเถ้าถ่าน โดยที่ไม่ได้เห็นความสวยงามของแสงไฟบนไม้ขีดไฟก้านน้อยนั้นเลยก็ได้ นี่คือประโยชน์ของบุคลาธิษฐานค่ะ ช่วยสื่อความหมายได้มากมาย และครอบคลุม แม้จะใช้เพียงคำไม่กี่คำ แต่ความหมายที่สื่อออกมานั้น ลึกซึ้งดีทีเดียว จริงไหมคะ 

๖. สัญลักษณ์   ( symbol )

สัญลักษณ์ เป็นการเรียกชื่อสิ่งๆหนึ่งโดยใช้คำอื่นมาแทน  ไม่เรียกตรงๆ ส่วนใหญ่คำที่นำมาแทนจะเป็นคำที่เกิดจากการเปรียบเทียบและตีความซึ่งใช้กันมานานจนเป็นที่เข้าใจและรู้จักกันโดยทั่วไป ขอยกตัวอย่างสัญลักษณ์พื้นฐานของคนต่ำต้อย ที่ไปรักกับสาวผู้สูงส่ง กับเพลงนี้เลยค่ะ เพลงวาสนาหมาวัด ในท่อนที่ว่า

วันน้องวิวาห์ แก้วตา ดอกฟ้า ส่งข่าว

บอกให้รู้เรื่องราว ว่าน้องสาวจะเข้าวิวาห์

หมาวัดนั่งไห่ เหลือใจในคำสัญญา

บ่คิดบ่ฝันเลยหนา คำสัญญาดอกฟ้าจะลืม

       ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นค่ะ ดอกฟ้า คือสัญลักษณ์ของหญิงสาวที่สูงส่ง และหมาวัดเป็นสัญลักษณ์ของ ชายที่มีฐานะต่ำต้อยนั่นเองค่ะ 


๗. นามนัย   ( Metonymy )

นามนัย  คือการใช้คำหรือวลีซึ่งบ่งลักษณะหรือคุณสมบัติของสิ่งใดสิ่งหนึ่งแทนอีกสิ่งหนึ่ง  คล้ายๆสัญลักษณ์   แต่ต่างกันตรงที่  นามนัยนั้นจะดึงเอาลักษณะบางส่วนของสิ่งหนึ่งมากล่าว  ให้หมายถึงส่วนทั้งหมด ในส่วนของนามนัยนั้น อาจจะทำให้สับสนกับสัญลักษณ์ได้ เราไปดูตัวอย่างกันเลยดีกว่าค่ะ เพลงนี้เป็นเพลง ตอกมัดใจ ในท่อนที่ว่า

เห็นอ้ายเป็นตอกมัดกล้าดำนาแล้วเหยียบใส่ตม

       ตอกมัดกล้า ชาวนาใช้มัดกล้า เมื่อถึงเวลาที่จะต้องดำนานั้น ก็จะแกะ แล้วทิ้งไป ซึ่งในเพลงใช้ลักษณะของตอกมัดกล้านี้มาใช้ในการเปรียบ และเป็นนามนัยอย่างหนึ่ง โดยช่วยสื่อความหมายของบทเพลงได้ง่ายยิ่งขึ้น แต่ในกรณีที่ผู้ฟังไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ อาจจะยากต่อการทำความเข้าใจได้ค่ะ 

๘. สัทพจน์   ( Onematoboeia )

สัทพจน์  หมายถึงภาพพจน์ที่เลียนเสียงธรรมชาติ     เช่น  เสียงดนตรี    เสียงสัตว์   เสียงคลื่น    เสียงลม   เสียงฝนตก เสียงน้ำไหล ฯลฯ  การใช้ภาพพจน์ประเภทนี้จะทำให้เหมือนได้ยินเสียงนั้นจริง ๆ เพลงที่ใช้สัทพจน์นั้น ขอยกตัวอย่างเพลง อีสานบ้านเฮา ในท่อนแรกที่ว่า

หอมดอกผักกะแยง ยามฟ้าแดงค่ำลงมา

แอ๊บๆ เขียดจะนา ร้องยามฟ้าฮ้องหวนๆ

เขียดโม้เขียดขาคำ เหมือนหมอลำพากันม่วน

เมฆดำลอยปั่นป่วน ฝนตกมาสู่อีสาน


       เป็นการเลียนเสียงของเขียด และเสียงฟ้าร้องค่ะ ทำให้เราสามารถจินตนาการและคิดถึงบรรยากาศในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี และนี่คือประโยชน์ของสัทพจน์ค่ะ 

       เป็นอย่างไรกันบ้างคะ พอที่จะเข้าในภาพพจน์กันหรือยัง นอกจากในเพลงแล้วนั้น ภาพพจน์ยังมีให้เห็นได้ในวรรณกรรมอื่นๆอีกมากมายเลยนะคะ ลองไปศึกษาเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจมากยิ่งขึ้นได้นะคะ สำหรับบทความเรื่องต่อไปนั้น จะพาเพื่อนๆไปเรียนรู้นางในวรรณคดี ในบทเพลงกันค่ะ ติดตามด้วยนะคะ :)


วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เรียนคำเป็นคำตายด้วยเพลง

คำเป็น - คำตาย เรียนง่ายๆ ด้วยเพลง

การเรียนรู้ จะง่ายมากยิ่งขึ้น หากเราสามารถนำสิ่งที่ใกล้ตัวเราที่สุด มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน ก็จะทำให้การเรียรนรู้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และในวันนี้ อยากจะพาทุกคนไปเรียนรู้คำเป็น - คำตายจากบทเพลง มาลองดูกันนะคะ ^^
อันดับแรก เรามารู้จักคำเป็น-คำตายก่อนดีกว่าค่ะ ว่าเป็นยังไง คำแบบไหนที่เรียกว่าคำเป็น และคำแบบไหนที่เรียกกันว่าคำตาย
- คำเป็น เป็นคำที่มีตัวสะกดในมาตรา แม่กม กน กง เกย และเกอว 
- คำตาย เป็นคำที่มีตัวสะกดในมาตรา แม่กก กบ และกด
ส่วนคำที่เป็นพยางค์เปิดนั้น เสียงของสระจะบอกเราได้ค่ะ ว่าคำนั้นเป็นคำเป็นหรือคำตาย โดยหากคำนั้นใช้สระเสียงยาว จะเป็นคำเป็น แต่หากคำไหนที่ใช้สระเสียงสั้น คำนั้นจะเป็นคำตาย
ง่ายมากใช่ไหมคะ เอาล่ะค่ะ ก่อนที่จะไปทดสอบความรู้ เราไปฟังเพลงที่จะสามารถทำให้เราสามารถจดจำหลักการจำคำเป็นคำตายได้ง่ายขึ้น เพลงนี้เลยค่ะ


เอาล่ะค่ะ เรามาเริ่มทดสอบความรู้กันเลยดีกว่า ลองดูสิคะว่า ในท่อนฮุกเพลงนี้ คำไหนเป็นคำเป็น แล้วคำไหนบ้างที่เป็นคำตาย



คำวาฮักกันมันเฮียถิ่มไส 


เป็นเพลงที่กำลังฮิตติดลมบนในตอนนี้เลย 
เนื้อร้องในช่วงท่อนฮุกของเพลงนี้มีอยู่ว่า

แล้วคำว่ฮักกัน มื้อนั่นมันเหี่ยถิ่มไส

แล้วคนที่ว่าฮักหลาย มื้อนี่หัวใจเอาไผมาปน

แทบบ่มีแฮงหายใจ หล่าหล่อยไปทั้งตัวตน

กลั้นใจฟังเหตุผล ของคนที่เซาฮักกัน

เป็นยังไงบ้างคะ เพลงนี้ดูจะง่ายไป เพราะมีคำตายน้อยซะเหลือเกิน 
คำตายที่พบ มีเพลงคำว่า ฮัก แทบ และ เหตุ เท่านั้น ที่เหลือเป็นคำเป็นหมดเลยค่ะ 
ง่ายมากใช่ไหมคะ เพื่อเน้นย้ำความเข้าใจ เรามาทดสอบกันอีกรอบกับบางท่อนของเพลงนี้กันเลยค่ะ



คู่คอง เพลงของก้องห้วยไร่ มาดูกันค่ะว่า ในท่อนนี้ มีคำไหนเป็นคำเป็น คำตายกันบ้าง

คำว่าฮักเกิดขึ้นที่ใด  เกิดกับไผมันบ่สำคัญ 

มันจะอยู่ตรงนั้น  บ่หายตามกาลเวลา

ว่าสิผ่านมาดนปานใด๋  ในหัวใจบ่เคยร้างลา 

ยังจดจำทุกถ้อยวาจา ที่เฮาเว้าต่อกัน

เอาล่ะค่ะ มาถึงตรงนี้ หลายคนคงสงสัยว่า แล้วคำที่มีสระเสียงสั้น แต่มีตัวสะกดอยู่ในมาตราที่เป็นคำเป็นล่ะ เราจะพิจารณายังไง ว่ามันคือคำเป็น หรือคำตาย คำในลักษณะนี้ ให้เราดูที่ตัวสะกดก่อนนะคะ หากคำนั้นมีตัวสะกดอยู่ในมาตราแม่ กม กน เกย และเกอว ให้ถือเป็นคำเป็นค่ะ กล่าวคือ ให้พิจารณาตัวสะกดก่อนนั่นเองค่ะ 
เป็นยังไงบ้างคะ คิดว่าหลายคนน่าจะเข้าใจหลักการการพิจารณาคำเป็นคำตายแล้ว เห็นไหมล่ะคะว่า คำเป็นคำตายนั้น เรียนรู้ได้ง่ายดายมากแค่ไหน บทความต่อไปเราจะเรียนอะไรจากบทเพลงนั้น ตามไปดูกันเลยค่ะ ^^







วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559

สอนภาษาไทยด้วยเพลง

ภาษาในเพลง




                การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ เกิดได้ทุกที่ ทุกเวลา แม้แต่ตอนที่เรากำลังมีความสุขกับการฟังเพลงอยู่นั้น เราก็สามารถที่จะเรียนรู้ได้เช่นกัน หลายคนฟังเพลงเพื่อความสนุกสนานเพียงแค่นั้น แต่ทว่ามีหลายคนที่ฟังเพลงเพื่อต้องการที่จะซึมซาบไปกับความหมายในบทเพลง และนอกจากความสนุกสนาน และความเพลิดเพลิน บทเพลงยังให้ความรู้ในเรื่องของภาษากับเราอีกด้วย อย่างเช่นเพลงไทย ในเพลงแต่ละเพลง เราสามารถเรียนรู้อะไรจากมันได้บ้าง การสะกดคำ คำเป็นคำตาย มาตราตัวสะกด และรวมไปถึงโวหารภาพพจน์ เหล่านี้เราล้วนแล้วแต่เรียนรู้ได้จากบทเพลงทั้งนั้น ลองมาเรียนรู้ไปพร้อมๆกันสิคะ ^^

ตอนนี้เรามาพูดถึงความโดเด่นของภาษาที่แตกต่างกันระหว่างเพลงสตริง กับเพลงไทยลูกทุ่ง 
เพลงสตริง หรือเพลงไทยป๊อป เป็นแนวเพลงของไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากฝั่งตะวันตก ซึ่งภาษาที่ใช้แน่นอนอยู่แล้วว่า มีความแตกต่างจากเพลงลูกทุ่งไทยเป็นอย่างมาก
เพลงลูกทุ่ง โดยมากเนื้อหาจะเป็นการสะท้อนวิถีชีวิต สภาพสังคมและวัฒนธรรมของไทย โดยมีการสอดแทรกภาษาถิ่นเข้าไปเพื่อให้ผู้ฟังรู้สึกถึงความเป็นพื้นบ้านได้มากที่สุด อีกทั้งท่วงทำนอง ดนตรี การร้อง มีแบบแผน และมีลักษณะเฉพาะของความเป็นลูกทุ่งอีกด้วย 
        ภาษาที่แตกต่างกัน ทำให้ความหมาย ความลึกซึ้ง อารมณ์และความรู้สึกในบทเพลงแตกต่างกันไปด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันของบทเพลงทั้งสองประเภทคือ ใช้ภาษาไมยในการเรียบเรียงขึ้นมาเป็นบทเพลง ดังนั้นการเรียนรู้ภาษาในเพลง ก็เป็นการศึกษาภาษาไทยได้เป็นอย่างดี ลองดูกันนะคะว่า เราจะสามารถเรียนรู้อะไรในเพลงได้บ้าง ตามไปดูกันในบทความต่อๆไปได้เลยค่ะ 


Let me introduce my self.

สวัสดีค่ะ ^^

นี่คือบล๊อกการเรียนรู้ของ นางสาวชโลธร เถรวัลย์


เรียกง่ายๆว่า ครูจ้อย ก็ได้นะคะ


นักศึกษา คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย 


มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามค่ะ :) 



บทความโดยมากของผู้เขียน เป็นการนำบทเพลงไปประยุกต์ใช้ในการเรียนรู้นะคะ 
สามารถติชมได้ หากมีความคิดเห็นที่แตกต่าง หรือหากอยากจะสอบถามอะไรนั้น
สามารถสอบถามเข้ามาได้เลยค่ะ
บล๊อกนี้เป็นบล๊อกแห่งการศึกษา สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกันได้นะคะ
สำหรับตัวผู้เขียน ขอยินดีต้อนรับผู้ที่เข้ามาเรียนรู้ทุกๆคนค่ะ ^^