คลังบทความของบล็อก

วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ภาพพจน์ในบทเพลง

โวหาร ภาพพจน์ในเพลง


๑. อุปมา  ( Simile)

อุปมา    คือ การเปรียบเทียบว่าสิ่งหนึ่งเหมือนกับสิ่งหนึ่งโดยใช้คำเชื่อมที่มี ความหมายเช่นเดียวกับ คำว่า      " เหมือน "     
 เช่น     ดุุจ  ดั่ง  ราว  ราวกับ   เปรียบ   ประดุจ    เฉก   เล่ห์   ปาน   ประหนึ่ง  เพียง    เพี้ยง    พ่าง    ปูน  ฯลฯ เช่นในเพลงกุญแจที่หายไป ของปาล์มมี่ก็พบอุปมาในเพลง กุญแจที่หายไป ในท่อนที่ว่า 

เธอเหมือนเป็นกุญแจที่หาย  เป็นเหมือนคนที่ไขประตูให้ฉัน 

             เปรียบเธอเป็นกุญแจที่เคยหายไปค่ะ ซึ่งสื่อความหมายได้ว่า ชายคนนี้เป็นเหมือนกับคนที่เข้ามาเปิดหัวใจหญิงสาวคนนี้อีกครั้ง หลังจากที่ถูกใครบางคนปิดมันเอาไว้ แล้วเดินจากไปพร้อมกับปิดตายหัวใจหญิงสาวลง แต่เธอคนนี้กลับเข้ามาทำให้หัวใจของหญิงสาวได้เปิดขึ้นมาอีกครั้ง อุปมาโดยมากแล้วมักใช้เพื่อเปรียบเปรยให้ผู้อ่านได้คิดหรือจินตนาการตามสิ่งที่ผู้เขียนจะสื่อออกมาให้ผู้อ่านเข้าใจได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นค่ะ 

๒. อุปลักษณ์  ( Metaphor )

               อุปลักษณ์  ก็คล้ายกับอุปมาโวหารคือเป็นการเปรียบเทียบเหมือนกัน แต่เป็นการเปรียบเทียบ สิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง
อุปลักษณ์จะไม่กล่าวโดยตรงเหมือนอุปมา แต่ใช้วิธีกล่าวเป็นนัย  ให้เข้าใจเอาเอง  ที่สำคัญ  อุปลักษณ์จะไม่มีคำเชื่อมเหมือนอุปมา เช่นในเพลง เธอคือของขวัญ ของสิงโต ในท่อนที่ว่า 

หากเธอเป็นภูเขา ฉันจะเป็นต้นไม้

โอบกอดเธอเอาไว้ ไม่ให้เธอเหน็บหนาว

หากเธอเป็นท้องฟ้า ฉันจะเป็นเมฆสีขาว

โอบกอดเธอไม่ให้เธอเหงาและเดียวดาย

ถ้าเธอเป็นรถยนต์ ท้องถนนก็คือฉัน

หากเธอเป็นพระจันทร์ แน่นอนฉันต้องเป็นดาว

       อุปลักษณ์เปรียบเป็น เห็นไหมคะ เป็นจริงๆค่ะ เป็นทั้งภูเขา ต้นไม้ ท้องฟ้า รวมไปถึงรถยนต์ และถนนกันเลยทีเดียว สังเกตไหมคะว่า สิ่งที่ผู้ประพันธ์หรือผู้เขียนนั้นเปรียบ เป็นการเปรียบสิ่งที่คู่กัน บนภูเขามีต้นไม้ บนท้องฟ้ามีเมฆขาว ในท้องถนนมีรถยนต์ และพระจันทร์ ก็มักเคียงคู่อยู่กับดวงดาว ซึ่งสิ่งนี้เป็นการเปรียบเพื่อการสื่อความหมาย มากกว่าการให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพค่ะ สื่อความหมยที่ว่า ฉันจะเคียงข้างเธอ แค่นี้เองค่ะ สิ่งที่ผู้ประพันธ์จะสื่อ แต่การนำอุปลักษณ์มาใช้นั้น ช่วยให้บทเพลงดูมีความหมายที่ลึกซึ้ง มากกว่าการสื่อความหมายโดยตรงนั่นเองค่ะ

๓. ปฏิพากย์  ( Paradox )
                 ปฏิพากย์ หรือ ปรพากย์  คือการใช้ถ้อยคำที่มีความหมายตรงกันข้าม หรือขัดแย้งกันมากล่าว อย่างกลมกลืนกันเพื่อเพิ่มความหมายให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น เช่น ชื่อเพลง บาปบริสุทธิ์ ของวงคาราบาว นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการใช้ปฎิพากย์ค่ะ แต่ถ้าจะให้ชัดเจน ลองดูที่เพลงนี้นะคะ เพลง รักเธอประเทศไทย ในท่อนที่ว่า

จะตึงจะตัง ขึงขัง หรือโอนอ่อนแล้วแต่ทำเพื่อใคร

จะดีจะเลว เธอก็ยืนเคียงข้างจะจำไม่จาง ยังซึ้งใจ

จะเป็นจะตาย ดีร้ายสักเพียงใดฉันทำได้ เพื่อเธอ

              การใช้ปฏิพากย์ ช่วยให้เนื้อหาของเพลงมีน้ำหนักมากขึ้น ในเพลงรักเธอประเทศไทยนี้ ความหมายที่สื่อออกมาคือ แม้ว่าชีวิตจะเป็นอย่างไร ก็สามารถทำทุกอย่างได้เพื่อชาติไทย ซึ่งการใช้ปฏิพากย์ก็เป็นการช่วยให้ความหมายที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อออกมานั้น หนักแน่นมากยิ่งขึ้นด้วยค่ะ

๔. อติพจน์    (  Hyperbole )    

                 อติพจน์ หรือ อธิพจน์  คือโวหารที่กล่าวเกินความจริง เพื่อเน้นความรู้สึก ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกที่ลึกซึ้ง
ภาพพจน์ชนิดนี้นิยมใช้กันมากแม้ในภาษาพูด  เพราะเป็นการกล่าวที่ทำให้เห็นภาพได้ง่ายและแสดงความรู้สึกของกวีได้อย่างชัดเจน  จะขอยกตัวอย่างเพลงนี้แล้วกันค่ะ เพลง เป็นไปบ่ได้ ซึ่งอาจจะมีหลายคนที่ยังไม่รู้จัก ลองไปฟังดูได้นะคะ 



       โดยในเพลงนี้ จะมีท่อนหนึ่งที่ว่า 

ให้บ้านเฮามีหิมะตก ให้นกเอี้ยงเลิกนั่งเลี้ยงควาย
ให้หมีแพนด้าออกลูกเป็นไข่ ยังสิเป็นไปได้กว่าฮักสองเฮา

       ในเนื้อเพลงข้้างต้น เป็นการกล่าวเกินจริง เพื่อเน้นอารมณ์และความรู้สึกที่ว่า รักของตนไม่สามารถเป็นไปได้ ให้หิมะตกที่บ้านเรา (ประเทศไทย) ยังดูมีหวัง และง่ายเสียกว่า เป็นการเปรียบที่ซึ้งอย่างยิ่งเลย จริงไหมคะ 

๕. บุคลาธิษฐาน   (  Personification )

               บุคลาธิษฐาน หรือ บุคคลวัต   คือการกล่าวถึงสิ่งต่างๆ ที่ไม่มีชีวิต ไม่มีความคิด ไม่มีวิญญาณ     เช่น โต๊ะ    เก้าอี้    อิฐ  ปูน   หรือสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่น  ต้นไม้  สัตว์  โดยให้สิ่งต่างๆเหล่านี้แสดงกิริยาอาการและความรู้สึกได้เหมือนมนุษย์  สำหรับบุคลาธิษฐานนั้น ขอยกตัวอย่างเป็นเพลงนี้ก็แล้วกันค่ะ เพลงไม้ขีดไฟกับทานตะวัน  เพลงนี้เป็นเพลงที่ค่อนข้างจะเก่ามากแล้ว แต่งโดยคุณประภาสค่ะ ความหมายดีเลยทีเดียว ลองไปฟังดูได้นะคะ 


       ซึ่งท่อนที่ยกมานี้ มีใจความว่า

เจ้าไม้ขีดไฟ ก้านน้อยเดียวดาย
แอบรักดอกทานตะวัน

       ไม้ขีดไฟ เป็นสิ่งไม่มีชีวิต แต่ผู้เขียนใส่ชีวิตจิตใจให้กับมัน โดยการให้มีความรู้สึกรัก รักดอกทานตะวัน โดยธรรมชาติของดอกทานตะวันนั้น จะหันไปหาแต่แสงจากดวงอาทิตย์ใช่ไหมคะ แล้วเจ้าไม้ขีดไฟก้านน้อยๆนี้ จะมีหวังอะไร ไม่มีวันเสียหรอกที่ดอกทานตะวันจะหันมามอง แต่ถ้าหากมีวันหนึ่ง ดอกทานตะวันหันมามอง เพียงเพราะแสงอันน้อยนิดที่ไม้ขีดไฟยอมจุดตัวเองขึ้นมานั้น ในวันนั้น ตอนนั้น ดอกทานตะวัน อาจจะเห็นเพียงเถ้าถ่าน โดยที่ไม่ได้เห็นความสวยงามของแสงไฟบนไม้ขีดไฟก้านน้อยนั้นเลยก็ได้ นี่คือประโยชน์ของบุคลาธิษฐานค่ะ ช่วยสื่อความหมายได้มากมาย และครอบคลุม แม้จะใช้เพียงคำไม่กี่คำ แต่ความหมายที่สื่อออกมานั้น ลึกซึ้งดีทีเดียว จริงไหมคะ 

๖. สัญลักษณ์   ( symbol )

สัญลักษณ์ เป็นการเรียกชื่อสิ่งๆหนึ่งโดยใช้คำอื่นมาแทน  ไม่เรียกตรงๆ ส่วนใหญ่คำที่นำมาแทนจะเป็นคำที่เกิดจากการเปรียบเทียบและตีความซึ่งใช้กันมานานจนเป็นที่เข้าใจและรู้จักกันโดยทั่วไป ขอยกตัวอย่างสัญลักษณ์พื้นฐานของคนต่ำต้อย ที่ไปรักกับสาวผู้สูงส่ง กับเพลงนี้เลยค่ะ เพลงวาสนาหมาวัด ในท่อนที่ว่า

วันน้องวิวาห์ แก้วตา ดอกฟ้า ส่งข่าว

บอกให้รู้เรื่องราว ว่าน้องสาวจะเข้าวิวาห์

หมาวัดนั่งไห่ เหลือใจในคำสัญญา

บ่คิดบ่ฝันเลยหนา คำสัญญาดอกฟ้าจะลืม

       ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นค่ะ ดอกฟ้า คือสัญลักษณ์ของหญิงสาวที่สูงส่ง และหมาวัดเป็นสัญลักษณ์ของ ชายที่มีฐานะต่ำต้อยนั่นเองค่ะ 


๗. นามนัย   ( Metonymy )

นามนัย  คือการใช้คำหรือวลีซึ่งบ่งลักษณะหรือคุณสมบัติของสิ่งใดสิ่งหนึ่งแทนอีกสิ่งหนึ่ง  คล้ายๆสัญลักษณ์   แต่ต่างกันตรงที่  นามนัยนั้นจะดึงเอาลักษณะบางส่วนของสิ่งหนึ่งมากล่าว  ให้หมายถึงส่วนทั้งหมด ในส่วนของนามนัยนั้น อาจจะทำให้สับสนกับสัญลักษณ์ได้ เราไปดูตัวอย่างกันเลยดีกว่าค่ะ เพลงนี้เป็นเพลง ตอกมัดใจ ในท่อนที่ว่า

เห็นอ้ายเป็นตอกมัดกล้าดำนาแล้วเหยียบใส่ตม

       ตอกมัดกล้า ชาวนาใช้มัดกล้า เมื่อถึงเวลาที่จะต้องดำนานั้น ก็จะแกะ แล้วทิ้งไป ซึ่งในเพลงใช้ลักษณะของตอกมัดกล้านี้มาใช้ในการเปรียบ และเป็นนามนัยอย่างหนึ่ง โดยช่วยสื่อความหมายของบทเพลงได้ง่ายยิ่งขึ้น แต่ในกรณีที่ผู้ฟังไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ อาจจะยากต่อการทำความเข้าใจได้ค่ะ 

๘. สัทพจน์   ( Onematoboeia )

สัทพจน์  หมายถึงภาพพจน์ที่เลียนเสียงธรรมชาติ     เช่น  เสียงดนตรี    เสียงสัตว์   เสียงคลื่น    เสียงลม   เสียงฝนตก เสียงน้ำไหล ฯลฯ  การใช้ภาพพจน์ประเภทนี้จะทำให้เหมือนได้ยินเสียงนั้นจริง ๆ เพลงที่ใช้สัทพจน์นั้น ขอยกตัวอย่างเพลง อีสานบ้านเฮา ในท่อนแรกที่ว่า

หอมดอกผักกะแยง ยามฟ้าแดงค่ำลงมา

แอ๊บๆ เขียดจะนา ร้องยามฟ้าฮ้องหวนๆ

เขียดโม้เขียดขาคำ เหมือนหมอลำพากันม่วน

เมฆดำลอยปั่นป่วน ฝนตกมาสู่อีสาน


       เป็นการเลียนเสียงของเขียด และเสียงฟ้าร้องค่ะ ทำให้เราสามารถจินตนาการและคิดถึงบรรยากาศในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี และนี่คือประโยชน์ของสัทพจน์ค่ะ 

       เป็นอย่างไรกันบ้างคะ พอที่จะเข้าในภาพพจน์กันหรือยัง นอกจากในเพลงแล้วนั้น ภาพพจน์ยังมีให้เห็นได้ในวรรณกรรมอื่นๆอีกมากมายเลยนะคะ ลองไปศึกษาเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจมากยิ่งขึ้นได้นะคะ สำหรับบทความเรื่องต่อไปนั้น จะพาเพื่อนๆไปเรียนรู้นางในวรรณคดี ในบทเพลงกันค่ะ ติดตามด้วยนะคะ :)


1 ความคิดเห็น:

  1. Casino Finder - JTM Hub
    Get the 제주도 출장샵 latest casino 경상북도 출장안마 information. View 천안 출장샵 real-time casino games, 군포 출장마사지 jackpots, promotions and 춘천 출장샵 FAQs here. Casino Finder features reviews of games, deposits and withdrawals.

    ตอบลบ