คลังบทความของบล็อก

วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2559

นางในวรรณคดีที่ปรากฏในบทเพลง

นางในวรรณคดีที่ปรากฏในบทเพลง

การนำเอานางในวรรณคดี หรือตัวพระตัวนางในวรรณคดี มาเสริมเติมแแต่งไว้ในบทเพลงนั้น เป็นกระแสมาสักพัก ทำให้เราได้พบเห็นตัวละครที่สำคัญ ดังเช่นนางในวรรณคดีนั้น มาโลดแล่นอยู่ในบทเพลง ซึ่งก็มีทั้งผลดี และผลเสียนะคะ ผลดี คือ ทำให้เด็กรุ่นใหม่สมัยนี้ได้รู้จักตัวละครในวรรณคดี หรือรู้จักวรรณคดี และสนใจอยากที่จะไปหามาอ่านมากยิ่งขึ้น แต่ผลเสียก็มีนะคะ คือ ในบางครั้ง ผู้แต่งอาจจะมีความรู้เกี่ยวกับตัวละครตัวนั้นๆอย่างไม่ถูกต้อง เช่นนางสีดา กับพระราม และทศกัณฑ์นี่เป็นปัญหาเยอะมากทีเดียวเลยค่ะ เพราะอะไรนั้น ตามไปดูกันเลยค่ะ ^^

1. นางสีดา 



       สำหรับเพลงนี้ เป็นที่วิพากย์วิจารณ์กันอย่างหนาหูกันเลยทีเดียวค่ะ เนื่องจากเรื่องราวที่ผู้แต่งนำมาเขียนในบทเพลงนั้น อาจจะไม่เป็นจริงดังในตัววรรณคดี เพราะเนื่องจาก เนื้อหาในเพลง เป็นเหมือนการกล่าวถึง เรื่องราวความรัก ระหว่างพระราม กับนางสีดา ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ โดยกล่าวไว้ว่า พระรามสั่งให้นางสีดาลุยไฟ เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจ ดังท่อนที่ว่า

โอ้ว่าพระรามยังแคลงใจ จบศึกกรุงลงกาพิสูจน์เจ้านางสีดา ให้บุกเดินลุยไฟ

       ซึ่งในตัววรรณคดีนั้น พระรามมิได้สั่งให้นางสีดานั้นลุยไฟ แต่เป็นตัวนางสีดาเองที่ขอลุยไฟ ตัวพระรามมีความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับนางสีดามาก เมื่อเสร็จศึก และทศกันณฑ์สิ้นชีวิตในสมรภูมิแล้วนั้น พระรามก็เฝ้ารอที่จะได้พบหน้ากับนางสีดาอีกครั้ง แต่เมื่อได้พบกับนางสีดาแล้ว จักให้พระรามจักแสดงความรักต่อนางสีดาอย่างประเจิดประเจ้อก็หาได้ไม่ เพราะตัวนางสีดาเองไปอยู่ที่กรุงลงกามาเป็นเวลา 14 ปีด้วยกัน บรรดาทวยเทพเทวดา รวมทั้งไพร่พลเสนาลิงทั้งหลาย อาจจะมีความคลางแคลงใจในตัวของนางสีดา ดังนั้นพระรามจึงทำทีแกล้งพูดยั่วนางสีดา ด้วยหลักจิตวิทยาสักหน่อย ว่า นางสีดาดูมีสีหน้าที่สุขสบายดี ทศกัณฑ์คงจะดูแลเป็นอย่างดี น้ำเสียงออกไปเชิงประชด เมื่อนางสีดาได้ยินดังนั้นก็เหมือนกับฟ้าผ่าฟาดลงกลางใจ จึงขอพิสูจน์ตนเองเพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ ดังตอนที่ว่า



“... ข้าขอพิสูจน์เพลิงถวาย เบื้องบาทพระนารายณ์รังสรรค์
ต่อหน้าฝูงเทพเทวัญ กับพวกพลขันธ์วานร ...”

และด้วยอานุภาพความดีอันหาที่ติไม่ได้ของนางสีดา ผลของการลุยไฟจึง ...
“... เดชะความสัตย์ที่ซื่อตรง จะร้อนเบื้องบาทบงสุ์ก็หาไม่
มีประทุมทิพมาศอำไพ เกิดขึ้นในกลางเพลิงกาล
ขยายแย้มผกาเกสร ขจายจรรื่นรสหอมหวาน
รับรองบาทบงสุ์ทรงธาร ทุกย่างบทมาลย์นางเทวี ...”
       
       นี่จึงเป็นการพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พระรามหาได้สั่งให้นางสีดาลุยไฟไม่ และนางวรรณคดีอีกนาง ที่ใครๆก็บอกว่านางสองใจนี้ ในบทเพลงที่เอามากล่าว ค่อนข้างที่จะเห็นต่างจากที่กระแสสังคมวิพากย์วิจารณ์ นั่นคือวันทอง นั่นเองค่ะ

2.วันทอง


       "วันทอง หญิงสองใจ" เชื่อว่าหลายคนคงได้ยินประโยคนี้หลายต่อหลายครั้ง เป็นการเปรียบเทียบตามตำรับวรรณคดี ที่ดูเหมือนว่าผู้เขียนต้องการที่จะให้ผู้อ่าน คิดและก็มองดังเช่นนั้น แต่ในบทเพลงนี้กลับเห็นต่างจากตัววรรณคดี แตกต่างอย่างไรนั้น ไปฟังกันค่ะ


       อาญาสองใจ เป็นบทเพลงที่มองต่างมุม กล่าวคือ บทเพลงสื่อออกมาว่า วันทองไม่ใช่หญิงสองใจ แต่ถึงกระนั้น ยังไม่มีทฤษฏีใดพิสูจน์ได้เลยว่า เหตุใดวันทองจึงไม่เลือกที่จะอยู่กับใครเลย ตามบทสุดท้ายในตอนที่สมเด็จพระพันวษาให้วันทองเลือกนั้นว่าจะอยู่กับใคร นางมีความคิดเห็นว่า

ความรักขุนแผนก็แสนรัก ด้วยร่วมยากมานักไม่เดียดฉันท์
สู้ลำบากบุกป่ามาด้วยกัน สารพันอดออมถนอมใจ
ขุนช้างแต่อยู่ด้วยกันมา คำหนักหนาหาว่าให้เคืองไม่
เงินทองกองไว้ไม่ให้ใคร ข้าไทใช้สอยเหมือนของตัว
จมื่นไวยเล่าก็เลือดที่ในอก ก็หยิบยกรักเท่ากันกับผัว


       จะเห็นได้ว่า นางวันทองนั้น มิได้ใช้คำว่ารักกับขุนช้างแต่อย่างใด นางรักเพียงขุนแผนและลูกเพียงเท่านั้น หากแต่กับขุนช้าง นางน่าจะเห็นใจและเกิดความสงสารเสียมากกว่า ดังนั้นจึงเป็นเหมือนกับความจำเป็น ที่นางต้องตกอยู่ในสถานะเช่นนั้น แต่ด้วยความที่หวาดกลัวสมเด็จพระพันวษา นางจึงไม่กล้าที่จะตัดสินใจ จึงเอ่ยบอกว่า ให้สมเด็จพระพันวษาเลือกให้ เพียงเท่านั้นเอง สมเด็จพระพันวษา ก็ประนามนางเป็นหญิงสองใจไปเสียแล้ว วันทองเป็นตัวละครที่แสดงให้เห็นถึงการกดขี่เพศหญิงในสมัยนั้น ดังที่ท่านอาจารย์เนาวรัตน์ พงไษ์ไพบูลย์ ได้เขียนเอาไว้ในบทกลอน โซ่ที่ยังไม่ปลด ไว้ว่า

"จนคืนค่อนนอนอ่านทั้งหวานฉ่ำ    ทั้งโศกกำสรดทั้งสดชื่น

ว่าวันทองสองใจไม่ยั่งยืน             ใครเล่าขืนกดขี่ชีวิตพิม

 ใช่คาถาอาคมพรหมลิขิต                 มิใช่จิตจำนนจนหงอยหงิม

หญิงคือเครื่องสังเวยเครื่องเชยชิม       นี่แหละคือดาบทิ่มจิ้มจ่อคอ

บุรุษคือผู้ถูกในทุกสิ่ง                      แม้เณรทิ้งจีวรมานอนหอ

ว่าทะนงองอาจชาติสีดอ                            สมเป็นหน่อเนื้อพลายชายชาตรี

ครั้นขุนช้างบังอาจด้วยบาทใหญ่     แม่ก็เห็นเป็นใจไปทุกที่

อำนาจเงินครอบงำเข้าย่ำยี                  ชั่วว่าดีผิดว่าถูกไปทุกคราว

ความเป็นคนของพิมจึงนิ่มนุ่ม               ถูกเขากุมเขากดกำหนดก้าว

ตัดสินใจไม่ถูกทุกเรื่องราว                 จนชื่อฉาวชั่วช้าว่าสองใจ"
                                                                 (โซ่ที่ยังไม่ปลด : เนาวรัตน์ พงษ์ไพย์บูล)

3.ผีเสื้อสมุทร

       ผีเสื้อสมุทรเป็นตัวละครของสุนทรภู่ค่ะ ถือว่าเป็นนางในวรรณคดีอีกตัวที่น่าสนใจไม่แพ้ตัวละครตัวไหนเลยค่ะ เพลงที่นำผีเสื้อสมุทรมาแต่งคือเพลง ผีเสื้อสมุทร (รักเกินจะหักใจ) จะเป็นอย่างไรนั้น ไปฟังกันเลยค่ะ

       บทเพลงนี้ นำเอาความรักของผีเสื้อสมุทร ที่มีให้แก่พระอภัยมณีมาพูดถึงค่ะ ซึ่งในเรื่องความรักนี้ จะว่าผิด - ถูกนั้นเห็นจะเป็นเรื่องยากจริงไหมคะ แต่กล่าวตามที่สุนทรภู่ได้ขีดเขียนไว้นั้น นางเป็นหญิงที่ทำหน้าที่ภรรยาได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องเลยนะ ตามที่กล่าวไว้ในบทที่ว่า


สงสารภัคินีเจาพี่เอย เปนคูเชยเคียงชิดพิศมัย 
ถึงรูปชั่วตัวดําแตน้ำใจ จะหาไหนไดเหมือนเจาเยาวมาลย  
ตั้งแตนี้มีแตจะแลลับ จนดับสิ้นกาลาปาวสาน 
จนมวยดินสิ้นฟาแลบาดาล มิไดพานพบสมรเหมือนกอนมา 
พี่แบงบุญบรรพชิตอุทิศให เจาจงไปสูสวรรค ใหหรรษา 
อันชาตินี้มีกรรมจํานิรา เมื่อชาติหนาขอใหพบประสบกัน 
เปนมนุษย์ครุฑาเทวาธิราช อยารูขาดเสนหาจนอาสัญ 
ใหสมวงศ์พงศประยูรตระกูลกัน อยาตางพันธุผิดเพื่อนเหมือนเชนนี้



       พระอภัยมณียอมรับในน้ำใจ และความเป็นภรรยาที่ดีของนางผีเสื้อสมุทรค่ะ หากแต่ใจรู้สึกว่าตนรักกับยักษ์ไม่ได้ จึงต้องหนีจากนางไป ดังนั้นในบทเพลงนี้ จึงมิอาจตัดสินได้ว่า ผืดหรือถูกอย่างไร ในเรื่องของความรู้สึกนั้น ยากที่จะหาเหตุผลมาอธิบายได้ค่ะ


     
       เป็นอย่างไรบ้างคะ นางในวรรณคดีของเรา สังเกตเห็นไหมคะว่า มีบางบทเพลงที่เป็นการนำเอาเรื่องราวของตัวละครตัวนั้นมาแต่ง แต่บางบทเพลง ก็เป็นเหมือนกับการวิจารณ์ตัวบท สำหรับบทเพลง ความไพเราะนั้นสำคัญก็จริง แต่หากเป็นเรื่องของวรรณคดี จำเป็นที่จะต้องศึกษาอีกทีนะคะ สำหรับบทความต่อไป จะพาทุกคนไปดูคำสแลงในเพลงกันค่ะ อย่าลืมติดตามกันนะคะ ^^

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น